เคล็ดไม่ลับ 5 วิธีดูแลผู้สูงอายุให้สุขภาพกาย และจิตใจดี

ผู้สูงอายุคือใคร อายุเท่าไหร่ถึงจัดเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ
ประเทศไทยเรามีเกณฑ์การแบ่งผู้สูงอายุ หมายถึงบุคคลที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีการแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่ม ตามวัยคือ

  • ผู้สูงอายุวัยต้น ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 60 ปี ถึง 69 ปี
  • ผู้มีอายุวัยกลาง ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 70 ปี ถึง 79 ปี
  • ผู้มีอายุวัยปลาย ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 80 ปี ขึ้นไป

ความเสี่ยงสุขภาพและโรคภัยของกลุ่มผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นความเสี่ยงสุขภาพ และโรคภัยต่าง ๆ ก็ยิ่ง มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะหากในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นมีการใช้ชีวิตทำงานอย่างหนัก อาจจะไม่ได้มีเวลาดูแลสุขภาพภายในตัวเองมากนัก หรือบางท่านอาจจะมีการกินเหล้าสูบบุหรี่ หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่อันตรายต่อสุขภาพ เมื่ออายุเลยผ่านมา 60 ขึ้นแล้ว ผลของกิจกรรมเหล่านั้นก็ส่งผลเสี่ยงต่อสุขภาพ และโรคภัย โดยปกติความเสี่ยงทางสุขภาพ และโรคภัยของกลุ่มผู้สูงอายุที่พบบ่อย ยกตัวอย่างเช่น

  1. อาการเกี่ยวกับโรคกระดูก ที่เกิดขึ้นจากประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายการดูดซึมแคลเซียมต่าง ๆ ที่จะไปเสริมกระดูกให้แข็งแรง มีประสิทธิภาพลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้กระดูกของผู้สูงอายุมีความเปราะบางลง อาจส่งผลให้เกิดโรคกระดูกพรุน หรือกระดูกแตกหักได้ง่าย
  2. อาการเกี่ยวกับโรคดวงตา ที่เกิดขึ้นจากการใช้สายตาอย่างหนักตลอดมา โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ มือถือ ไอแพด แท็ปเลต และอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ส่งผล หรือมีรังสีที่อันตรายต่อสายตา ทำให้สายตานั้นทำงานหนักมากกว่าปกติ ซึ่งอาจจะทำให้กระจกตา หรือสายตามีอาการเสื่อมลงได้รวดเร็ว ซึ่งในผู้สูงอายุโรคที่เกี่ยวกับตาที่จะพบบ่อยก็อาจจะเป็นพวกต้อกระจก ต้อหิน กระจกประสาทตาเสื่อม หรือวุ้นในตาเสื่อม ก็พบมากเช่นกัน
  3. อาการเกี่ยวกับโรคความจำและการได้ยิน ที่เกิดจากประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายตามช่วงอายุที่ถดถอยลงโดยไม่รู้ตัว ยิ่งหากผู้สูงอายุไม่ได้มีการบำรุงสุขภาพร่างกายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อถึง ณ ช่วงอายุหนึ่ง ที่การทำงานของร่างกายลดลงก็อาจจะเกิดปัญหาอาการหูอื้อ หูตึง ไม่ค่อยได้ยินเสียงในบางความถี่ หรือเริ่มมีอาการสับสน หลงลืม หากรุนแรงขึ้นก็อาจจะมีผลถึงขั้นภาวะสมองเสื่อม การหลงทิศ หรือจำเรื่องราวในอดีตบางอย่างไม่ได้
  4. อาการเกี่ยวกับโรคระบบขับถ่าย ที่เกิดจากกระบวนการทำงานของระบบขับถ่ายปกติของร่างกายเริ่มลดลง ทำให้การควบคุมการขับถ่ายของผู้สูงอายุอาจควบคุมได้ยากขึ้น หรืออาจจะเริ่มต้นสังเกตได้ง่าย ๆ คือการมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อยขึ้น ระบบการย่อยอาหาร ไม่เป็นปกติ ซึ่งนั่นหากไปพบคุณหมอก็จะมีการแนะนำว่าอาหารผู้สูงอายุควรเป็นอาหารที่เคี้ยวง่ายย่อยง่าย เพื่อให้เหมาะต่อการทำงานของระบบขับถ่ายของร่างกาย
  5. อาการเกี่ยวกับสุขภาพจิต ที่อาจเกิดจากการทำงานหนักมาตลอดหลายปีทำให้เมื่อเข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุก็จะเกิดอาการความเครียดสะสมไว้ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการนอนไม่หลับ มีอาการกังวล ภาวะอ่อนเพลีย หรือบางท่านอาจจะรุนแรงถึงขั้นมีภาวะซึมเศร้าได้
  6. อาการที่เกิดจากภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ลดประสิทธิภาพลง ก็อาจจะส่งผลให้ผู้สูงอายุมีอาการเป็นหวัด เป็นไข้เจ็บปวดเป็นภูมิแพ้ ผดผื่น อาการอื่น ๆ เกิดขึ้นได้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างอาการความเสี่ยงทางสุขภาพ และโรคภัยของผู้สูงอายุที่มักจะเกิดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าบางอาการเป็นอาการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่ออายุเยอะขึ้น แต่ในบางอาการก็เป็นสิ่งที่หากเราดูแลสุขภาพตั้งแต่เริ่มต้น ดูแลสุขภาพล่วงหน้าก็อาจจะสามารถทำให้เราอาจบรรเทา หรือหลีกเลี่ยง ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้

5 วิธีดูแลผู้สูงอายุให้สุขภาพกายดี

  1. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ และมีความหลากหลาย เพื่อให้ได้รับสารอาหาร และวิตามินที่ร่างกายต้องการอย่างครบถ้วนเพียงพอ
  2. มีการหมั่นออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อต่าง ๆ ในร่างกาย
  3. มีการพบคุณหมอเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่อาจจะซุกซ่อนอยู่ แต่ยังไม่แสดงอาการ เพื่อให้สามารถเตรียมตัวป้องกันหรือรักษาได้อย่างทันท่วงที
  4. การเข้ารับฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ที่จำเป็น และสำคัญสำหรับผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บนั้นได้ง่ายและร่างกายไม่สามารถที่จะผลิตภูมิคุ้มกันมาสู้กับโรคภัยนั้นได้อย่างทันท่วงที การฉีดวัคซีนที่จำเป็น จึงเป็นอีกวิธีที่สาธารณสุข แนะนำสำหรับผู้สูงอายุ
  5. มีกิจกรรมง่าย ๆ หรืองานอดิเรกที่ให้ผู้สูงอายุได้ทำ เพื่อเป็นการฝึกสมอง ฝึกการจดจำ ทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อช่วยป้องกัน หรือลดอาการความจำเสื่อม หรืออาการทางด้านสมองต่าง ๆ

5 วิธีดูแลผู้สูงอายุให้สุขภาพจิตใจดี

  1. การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ บุตรหลาน หรือผู้ดูแลควรที่จะให้ความใส่ใจกับสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุทั้งในเรื่องของความสะอาด เรื่องของสังคมรอบด้าน เรื่องของข่าวสาร ที่จะไม่ให้ผู้สูงอายุได้รับข่าวสารที่ตึงเครียดมากนัก และให้ผู้สูงอายุได้รับความรักความใส่ใจจากครอบครัวอย่างเต็มที่
  2. ความเข้าใจสภาพอารมณ์ของผู้สูงอายุ ตามที่ได้กล่าวข้างต้นว่าผู้สูงอายุหลายท่านอาจจะมีภาวะตึงเครียดจากการใช้ชีวิตตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งอาจส่งผลให้เมื่อถึง ณ ช่วงอายุหนึ่ง สภาวะเหล่านั้นอาจทำให้ผู้สูงอายุมีภาวะอารมณ์แปรปรวน เครียด วิตกกังวล หรือมีการแสดงออกที่อาจผิดแปลกจากปกติ ดังนั้นผู้ที่อยู่ในครอบครัวก็จะต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และพยายามเข้าใจผู้สูงอายุด้วย
  3. การช่วยผ่อนคลายความรู้สึกของผู้สูงอายุ เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุนั้นตึงเครียด หรือเกิดอารมณ์แปรปรวน การพาผู้สูงอายุทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรกต่าง ๆ การเข้าวัด การรำวง การเต้นแอโรบิค การเล่นดนตรี ฟังดนตรีหรือเล่นกีฬาเบา ๆ ที่ผู้สูงอายุชอบก็เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุนั้นได้ระบายความเครียด และผ่อนคลายความรู้สึกลงได้บ้าง ส่งผลให้จิตใจสดชื่นแจ่มใสขึ้น บางกิจกรรมก็อาจจะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นด้วย ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าได้อย่างดีเช่นเดียวกัน
  4. การสนับสนุนการเข้าสังคมของผู้สูงอายุกับกลุ่มคนในหลากหลายรุ่น แน่นอนว่าปัจจุบันปัญหาระหว่าง Generation ก็เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การที่ให้ผู้สูงอายุได้ค่อย ๆ เรียนรู้ถึงความเป็นไปและแนวคิดวิวัฒนาการของลูกหลาน หรือกลุ่มคนในสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไปก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถมีเพื่อนได้หลากหลายมากขึ้น เข้าใจสังคมมากขึ้นไม่รู้สึกโดดเดี่ยว จนเกิดปัญหาการเก็บตัว ปลีกวิเวกออกจากสังคม ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงความเครียด ภาวะอารมณ์ และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา
  5. การให้เกียรติและให้ความเข้าใจกับผู้สูงอายุ การยินยอมรับฟังและให้คำปรึกษาอย่างเข้าอกเข้าใจผู้สูงอายุจากผู้ดูแลและคนใกล้ชิดก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะผู้สูงอายุหลายท่าน อาจไม่ได้มีการทำงาน หรือดูแลตัวเองได้เป็นปกติ

ดังนั้นก็ไม่แปลกที่ผู้สูงอายุหลายท่านมักจะรู้สึกถูกลดบทบาท เกรงใจลูกหลาน ครอบครัว ลดทอนคุณค่าของตัวเอง การไม่ได้เป็นที่พึ่ง หรือเสาหลัก ของครอบครัวอย่างที่เป็นมาก็ส่งผลมากต่อความรู้สึกของผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน ดังนั้นครอบครัวผู้ใกล้ชิดก็จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจ รับฟัง ให้เกียรติ และให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด

สรุปคำแนะนำ
โดยลักษณะครอบครัวของสังคมไทยส่วนใหญ่แล้วใน 1 ครอบครัวก็มักจะมีผู้สูงอายุอยู่อย่างน้อย 1-2 ท่าน ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุนั้นก็ต้องใช้ความใส่ใจทั้งร่างกาย และใส่ใจในการดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ ไม่ต่างจากการดูแลเด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็กเลย เพราะว่าสภาพร่างกายของผู้สูงอายุ หรือการทำงานต่าง ๆ ภายในร่างกายของผู้สูงอายุจะเริ่มลดประสิทธิภาพลง ทำให้ปฏิกิริยาต่าง ๆ ความสามารถในการดูแลต่าง ๆ เริ่มลดถอยลงไปด้วย

ดังนั้น ผู้ที่จะดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวก็จำเป็นที่จะต้องใส่ใจรายละเอียด ทั้งในด้านสุขภาพร่างกายที่เห็นได้ชัด และสุขภาพจิตใจที่ต้องอาศัยการสังเกต ด้วยเทคโนโลยีด้านสุขภาพในปัจจุบันการดูแลผู้สูงอายุ จึงมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในด้านของการลดความเสี่ยงด้านสุขภาพต่าง ๆ จากการดูแลอาหารการกิน การออกกำลังกาย หรือการเสริมภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ให้กับร่างกายผู้สูงอายุ เพื่อสนับสนุนให้การทำงานของร่างกายเป็นปกติให้ได้มากที่สุด ชะลอ หรือเลี่ยงปัญหาสุขภาพที่เกิดจากภูมิคุ้มกันหรือการขาดสารอาหาร และวิตามินต่าง ๆ เนื่องจากเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพปัจจุบัน ก็มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่ช่วยตอบโจทย์ในการดูแลสุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุในแต่ละช่วงได้

Paradigm istore

สวัสดี ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ Paradigm istore กรุณาคลิกปุ่มด้านล่างเพื่อแชทฉันผ่าน Messenger

Powered by WpChatPlugins